สรุป
พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

โดย… Narong Kongdee MS-Suphan

จำแนกหมวดหมู่
พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มี 7 หมวด รวม 56 มาตรา
หมวดที่ 1 คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง
หมวดที่ 2 การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
ส่วนที่ 1 การประกอบธุรกิจขายตรง
ส่วนที่ 2 การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
หมวดที่ 3 การคุ้มครองผู้บริโภค
หมวดที่ 4 การจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
หมวดที่ 5 นายทะเบียน
หมวดที่ 6 การอุทธรณ์
หมวดที่ 7 บทกำหนดโทษ
บทเฉพาะกาล

หลักการและเหตุผล
โดยที่การประกอบธุรกิจจำหน่วยสินค้าหรือบริการในปัจจุบันใช้วิธีการทำตลาดในลักษณะที่เข้าถึงผู้บริโภค โดยการเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค โดยตรง ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยการนำเสนอหรือสาธิตสินค้า ผ่านผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง การเสนอขายสินค้าหรือบริการในลักษณะดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่อาจตัดสินใจตกลงซื้อสินค้าหรือรับบริการได้อย่างอิสระและรอบคอบ
นอกจากนี้ ยังมีการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค โดยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ระบบออนไลน์ เป็นต้น โดยมุ่งหวังให้ผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางแสดงเจตนาตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าวนั้น ซึ่งในกรณีที่สินค้าหรือบริการดังกล่าวอาจไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างที่ได้โฆษณาไว้ อีกทั้งการทำตลาดขายตรงและตลาดแบบตรงในปัจจุบันได้มีการใช้วิธีชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเครือข่ายในธุรกิจดังกล่าว โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากากรหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชน การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการขายแบบเชิงรุก ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปในฐานะผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่สงบในสังคม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ
ขายตรง หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภค หรือของคนอื่น หรือสถานที่อื่น ที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรง หรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียว หรือหลายชั้น แต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ตลาดแบบตรง หมายความว่า การทำการตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ส่วนการซื้อขายสิ้นค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ถือว่าเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ
1. การขายสินค้าหรือบริการของบุคคลธรรมดาซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นผู้ปรกอบธุรกิจตลาดแบบตรง และมีรายได้จากการขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี
2. การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
3. การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
4. การขายสินค้าและบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า นักธุรกิจเครือข่าย
นายทะเบียน หมายถึง เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
นายกรัฐมนตรี รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

     ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังนี้
     1. เรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ แจ้งขอเท็จจริงหรือหลักฐานใดๆ เพื่อตรวจสอบ
     2. เข้าไปในสถานประกอบธุรกิจขายตรงหรือสถานประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือตรวจดูเอกสารหลักฐานว่าปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่
     3. เก็บหรือนำสินค้าในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบโดยไม่ต้อชำระค่าสินค้านั้น
ในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง
มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย
1. ประธานกรรมการ 1 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขายตรงและตลาดแบบตรง
2. กรรการโดยตำแหน่ง 4 คน ดังนี้
2.1 อธิบดีกรมการค้าภายใน
2.2 อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
2.3 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2.4 เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับขายตรงหรือตลาดแบบตรงจากภาคเอกชน ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
4. กรรมการและเลขานุการ คือ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง
1. พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการกระทำของผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
2. แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงด้วยก็ได้
3. กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง รวมทั้งติดตรม สอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
4. วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
5. พิจารณาวินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียน
6. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการกำกับดูแล รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย
7. สอดส่อง เร่งรัด พนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดตลอดจนเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
8. เสนอแนะในการออกกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัตินี้
9. เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย

การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่ป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

การประกอบธุรกิจขายตรง
ผู้ใดจะประกอบธุรกิจขายตรง ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและได้จดทะเบียนการประกอบขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ยื่นต่อนายทะเบียน
แผนการจ่ายผลตอบแทนต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. ต้องไม่กำหนดให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักจากการรับสมัครบุคคล หรือรับสมัครผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง เข้าร่วมเครือข่าย
2. ผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ขึ้นอยู่กับการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค รวมไปถึงการซื้อเพื่อการใช้หรือบริโภค
3. ต้องไม่บังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า
4. ต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล
5. ต้องแสดงวิธีการคิดคำนวณการจ่ายผลตอบแทนที่ตรงต่อความเป็นจริง หรือเป็นไปได้จริง และอย่างเปิดเผยชัดเจน
6. ลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
แผนการจ่ายผลตอบแทนใดที่มีลักษณะแตกต่างไปจากนี้ให้นำมาใช้ได้เท่าที่เป็นธรรมแก่ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง
ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในอัตราที่สูงกว่าคณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้จำหน่ายอิสระต้องร่วมรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในความชำรุด บกพร่องของสินค้าหรือบริการที่ผู้จำหน่ายอิสระขายให้แก่ผู้บริโภค

การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
ผู้ใดจะประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัตินี้
ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณามาบังคับใช้แก่การสือสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการ โดยอนุโลม
ข้อความในการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดทำเอการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงส่งมอบเอกสารซื้อขายหรือบริการนั้นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมกับสินค้าหรือบริการซึ่งเอกสารซื้อขายหรือบริการ ต้องมีข้อความภาษาไทย อ่านเข้าใจง่ายโดยระบุชื่อผู้ซื้อ ผู้ขาย และวันที่ส่งมอบ รวมทั้งสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญา ซึ่งสิทธิในการเลิกสัญญา ต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
เอกสารการซื้อขาย อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ชื่อผู้ซื้อ ผู้ขาย วันที่ซื้อขาย วันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ
2. กำหนดเวลา สถานที่ และวิธีการในการชำระหนี้
3. สถานที่และวิธีการในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ
4. วิธีการเลิกสัญญา
5. วิธีการคืนสินค้า
6. การรับประกันสินค้า
7. การเปลี่ยนสินค้าในกรณีมีความชำรุดบกพร่อง
การคืนสินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคสามารถส่งหนังสือ หรือแจ้งผู้จำหน่ายอิสระ หรือผู้ประกอบธุรกิจ แสดงเจตนาคืนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ
ผู้บริโภคมีหน้าที่ส่งคืนสินค้าหรือบริการให้ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กรณีผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ขอให้ผู้บริโภคส่งคืนสินค้าทางไปรษณีย์ โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ผู้บริโภคต้องส่งคืนสินค้าหรือบริการนั้นตามคำขอ ภายในระยะเวลา 21 วัน
หากสินค้าหรือบริการนั้นบุบสลาย หรือสูญหาย เพราะความผิดของผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้น เว้นแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติจาการเปิด การประกอบ หรือการผสมเพื่อใช้สินค้าหรือบริการ
ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่าย ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาคืนสินค้า
ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องตามคำรับประกันสินค้าหรือบริการตามเงือนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนด

การจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมแผนการจ่ายผลตอบแทน ซึ่งห้างหุ้นส่วนมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท เป็นบริษัทมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนการจ่ายผลตอบแทน ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้นายทะเบียนทราบก่อน จึงจะนำไปปฏิบัติได้
การขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ชื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง
2. ภูมิลำเนาผู้ประกอบธุรกิจ
3. ปะเภทหรือชนิดของสินค้าหรือบริการ
4. วิธีการขายสินค้าหรือบริการ

นายทะเบียน
นายทะเบียน คือ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจง หรือส่งเอกสารและหลักฐานที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาหรือตรวจสอบ
การขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ให้นายทะเบียนพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้
1. แผนการจ่ายผลตอบแทนต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2. สินค้าหรือบริการมีลักษณะตรงตามที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย
3. สัญญามีรายการถูกต้องและครบถ้วนตามที่คณะกรรรมการประกาศกำหนด
เมื่อคำขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจถูกต้อง ครบถ้วนให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอ ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่รับคำขอจดทะเบียน
กรณีการยื่นคำขอไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียนแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง และยื่นต่อนายทะเบียนอีกครั้ง และนายทะเบียนต้องแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่แก้ไขแล้ว
หากภายหลังทราบว่า ผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนได้ และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจทรายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอน

การอุทธรณ์
ในกรณีที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียน หรือมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน ให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนหรือผู้ประกอบธุรกิจ มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รัยหนังสือแจ้งคำสั่งนั้น

บทกำหนดโทษ
การฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ มีบทกำหนดโทษ 3 ประเภท คือ
1. ปรับ เปรียบเทียบปรับ สูงสุด 5 แสนบาท
2. จำคุก สูงสุด 5 ปี
3. ทั้งจำทั้งปรับ
กรณีผู้กระทำความผิดและรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนด 5 ปี กระทำความผิดอีก ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

สรุป
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ควบคุมและคุ้มครอง 3 กลุ่ม
1. คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ไห้ผู้บริโภคเสียเปรียบและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
2. กำกับ ควบคุม ติดตาม ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและตรงไปตรงมา
3. ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ คณะกรรม ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

เอกสารอ้างอิง

  • พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ให้ไว้ ณ วันที่ 23 เม.ย. พ.ศ.2545
  • พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้ไว้ ณ วันที่ 25 ม.ค. พ.ศ. 2550
  • พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ให้ไว้ ณ วันที่ 14 พ.ค. พ.ศ. 2560
  • กฎกระทรวง กำหนดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561